
- รำเพย
- กรกฎาคม 2024
เลือกซื้อถังเก็บน้ำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับบ้าน
(PART 1)
น้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของประเทศไทยในปัจจุบัน มักมาจากน้ำประปาที่จ่ายมาจากการประปานครหลวง ซึ่งจะเป็นน้ำสำหรับการอุปโภค และเมื่อนำมาผ่านเครื่องกรองน้ำ ก็จะสามารถนำมาบริโภคและใช้ทำอาหารได้นั่นเอง
แต่ในบางครั้งที่การประปานครหลวงมีเหตุจำเป็นต้องซ่อมแซมท่อจ่ายน้ำ หรือการจ่ายน้ำมายังบริเวณที่ท่านอยู่อาศัยเกิดขัดข้องทำให้น้ำประปาหยุดไหล ทำให้เราไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ การมี “ถังเก็บน้ำ” เพื่อเก็บน้ำสำรองเอาไว้ใช่งานในบ้านยามน้ำประปาไม่ไหล จึงเป็นตัวเลือกที่ดี และเป็นข้อแนะนำจาก BAREO ว่าทุกบ้านควรมีถังเก็บน้ำเป็นของตนเอง

การเลือกซื้อถังเก็บน้ำ
ในการเลือกซื้อถังเก็บน้ำสำหรับบ้านแต่ละหลัง เราจะไม่ได้คำนวณจากขนาดของบ้าน แต่จะคำนวณจากจำนวนผู้พักอาศัยในบ้านเป็นหลัก โดยคำนวณจากสูตร 1 คนต่อ 200 ลิตรต่อวัน
เช่น บ้านที่มีผู้พักอาศัย 5 คน และต้องการสำรองน้ำใช้อย่างน้อย 2 วัน ก็ควรที่จะซื้อถังเก็บน้ำขนาด 5 x 200 x 2 = 2,000 ลิตร
หรือ บ้านที่มีผู้พักอาศัย 3 คน และต้องการสำรองน้ำใช้อย่างน้อย 4 วัน ก็ควรที่จะซื้อถังเก็บน้ำขนาด 3 x 200 x 4 = 2,400 ลิตร เป็นต้น
**โดยปกติ ควรเลือกถังเก็บน้ำที่สามารถเก็บสำรองน้ำไว้ได้อย่างน้อย 2 วัน ในกรณีที่ท่อประปาสาธารณะมีปัญหา หรือ มีการตัดน้ำประปาที่เข้ามายังบ้านของเราด้วยเหตุสุดวิสัยอื่นๆ ซึ่งโดยปกติจะได้รับการซ่อมแซมภายใน 24 ชั่วโมง
ในกรณีที่บ้านพักอาศัยมีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก (7 คนขึ้นไป) ทำให้ต้องใช้ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มากเพื่อสำรองน้ำ สามารถลดจำนวนวันที่สำรองน้ำเผื่อไว้ลงได้ แต่ปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

พื้นที่สำหรับวางถังเก็บน้ำ
พื้นที่สำหรับการวางถังเก็บน้ำควรจะวางแผนและจัดสรรพื้นที่เอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ ออกแบบบ้าน เพื่อเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าเราควรจะซื้อถังเก็บน้ำขนาดใด เนื่องจากพื้นโครงสร้างสำหรับรับถังเก็บน้ำนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง เพราะตัวถังในปัจจุบัน จะถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กเพื่อให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด แต่จะชดเชยที่ความสูงเพื่อเพิ่มปริมาตรของถังเก็บน้ำ ดังนั้น ถังเก็บน้ำส่วนใหญ่จึงใช้พื้นที่ประมาณ 1-1.5 ตารางเมตร ดังนั้นในการหาที่วางถังเก็บน้ำ ควรวางบนพื้นโครงสร้างที่สามารถรับน้ำหนักได้
ทั้งนี้ หากถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร ก็จะหนักเท่ากับ 2,000 กิโลกรัม หรือ 2 ตัน ซึ่งน้ำหนักนี้จะเป็นน้ำหนักตายตัว (Dead Load) ที่จะตั้งอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา แต่หากมีปัญหาเรื่องพื้นโครงสร้างที่อาจจะรับน้ำหนักของถังเก็บน้ำไม่ไหว ก็สามารถแบ่งถังเก็บน้ำเป็นถังใบเล็กจำนวนหลายใบ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป โดยต่อท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกร่วมกันแทนก็ได้เช่นกัน
ตำแหน่งที่วางถังเก็บน้ำ ในปัจจุบัน ควรวางไว้ที่ชั้นล่าง เพื่อให้น้ำประปาไหลเข้าสะดวกและใช้ปั๊มน้ำคุณภาพดีในการจ่ายน้ำไปยังจุดต่างๆ ของบ้าน รวมไปถึงชั้นบนของบ้าน
แต่สำหรับอาคารพาณิชย์ที่มีพื้นที่จำกัด และต้องการวางถังเก็บน้ำไว้ที่ชั้นบน เจ้าของอาคารจำเป็นต้องศึกษาความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างถล่มหรือเกิดการแตกร้าวของอาคารขึ้น และในกรณีที่จำเป็น ควรใช้บริการวิศวกรโครงสร้างเพื่อทำการออกแบบและคำนวณพื้นที่รับน้ำหนักใหม่ให้เหมาะสม
ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับงาน ตกแต่งภายในได้ที่เบอร์โทร 02-408-1341 – 44 และ และ 083-899-9989 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 18.00 น. หรือ สนใจงาน ออกแบบตกแต่งภาย หรืองาน Interior Design บ้าน สามารถชมผลงานเพิ่มเติมได้ที่ Portfolio